ประมงจังหวัดมหาสารคามจัดพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเนื่องในวันประมงแห่งชาติ ประจำปี 2566
วันนี้ (19 ก.ย.66) ที่แหล่งน้ำหนองคู ต.นาเชือก อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานในพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เนื่องในวันประมงแห่งชาติ ประจำปี 2566 โดยมี นายพรพนม พรหมแก้ว ประมงจังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาเชือก กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนเข้าร่วม
นายพรพนม พรหมแก้ว ประมงจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า เนื่องในวันประมงแห่งชาติ ประจำปี 2566 ซึ่งตรงกลับกับวันสถาปนากรมประมง ครบรอบ ปีที่ 97 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เปลี่ยนแปลงวันประมงแห่งชาติ จากเดิมวันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็นวันที่ 21 กันยายนของทุกปี ด้วยเหตุผลที่ว่าในเดือนกันยายนเป็นช่วงฤดูฝน แหล่งน้ำต่างๆ มีปริมาณน้ำมาก สภาพทางธรรมชาติของแหล่งน้ำเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อน และเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีพระบรมราชโองการ ให้ตั้งกรมรักษาสัตว์น้ำขึ้นในวันที่ 21 กันยายน 2469 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกรมการประมงและกรมประมงตามลำดับ และเพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่สนพระทัยในกิจการด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนการศึกษาให้แก่ข้าราชการหรือนักเรียนไปศึกษาวิชาเพาะพันธุ์ปลาในต่างประเทศ สำหรับพันธุ์สัตว์น้ำที่นำมาปล่อยในวันนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมหาสารคาม เป็นพันธุ์ปลากินพืชชนิดต่างๆ เช่น ปลาตะเพียน จำนวน 100,000 ตัว ปลายี่สกเทศ จำนวน 100,000 ตัวปลาสุลต่านจำนวน 80,000 ตัว ปลาสวาย จำนวน 20,000 ตัว รวมทั้งสิ้น 300,000 ตัว
นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า การดูแลรักษาสัตว์น้ำที่ยังมีขนาดเล็ก ได้มีโอกาสเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ก่อนจับขึ้นทำประโยชน์ เพื่อที่จะได้ร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูพันธุ์สัตว์น้ำ ให้มีการขยาย แพร่พันธุ์ เพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นการเพิ่มศักยภาพทาง การผลิต เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในแหล่งน้ำ ทำให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนได้มีแหล่งอาหารโปรตีนไว้สำหรับบริโภค อันจะนำไปสู่ความมั่นคงทางด้านอาหาร บนพื้นฐานเศรษฐกิจแห่งความพอเพียง และยังเป็นการเพิ่มศักยภาพทางด้านการประมง ที่จะสามารถสร้างงานสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่ประชาชนคนในชุมชนท้องถิ่น และเพื่อให้เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญของชุมชนอย่างยั่งยืนอุดมสมบูรณ์ตลอดไป