คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตจังหวัดมหาสารคาม ประชุมพิจารณาคัดเลือกประเด็นที่สำคัญตามบริบทในพื้นที่เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตมาดำเนินการพัฒนาและแก้ไขปัญหา

 เมื่อวันที่  22  มีนาคม 2566 เวลา 13.30 น. นายเกียรติศักดิ์  ตรงศิริ  ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตจังหวัดมหาสารคาม ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุมบุษราคัม ชั้น 2 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมหาสารคาม  โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ทั้ง 3 ราย ประกอบด้วย นายธัญญวัฒน์  ชาญพินิจ นายวิวัฒน์  อินทร์ไทยวงศ์  และนายนพสิทธิ์  อุดมสุวรรณกุล พร้อมด้วย นายผดุงศักดิ์  อิ่มเอิบ  ปลัดจังหวัดมหาสารคาม หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้บริหารสถาบันการศึกษา ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมฯ
 โดยที่ประชุมฯ ได้ร่วมพิจารณาและเพิ่มเติม (ร่าง) นโยบายและแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของจังหวัดมหาสารคาม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ประกอบด้วย ประเด็นที่ 1  การพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กเพื่อเด็กอัจฉริยะ โดยมีเป้าประสงค์ รวม 6 ข้อ ได้แก่ เป้าประสงค์ที่ 1 เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตเกลือไอโอดีในจังหวัดมหาสารคามที่มีคุณภาพให้เป็นที่ยอมรับ มีการกระจายเกลือเสริมไอโอดีนให้ทุกครัวเรือนมีและบริโภคอย่างเพียงพอ ประสงค์ที่ 2 เพื่อให้เด็กมหาสารคาม ดี เก่ง มีสุข (ดี : มีวินัย/เก่ง : ใฝ่เรียนรู้ มีทักษะ/มีสุข : แข็งแรง) เป้าประสงค์ที่ 3 เพื่อให้เด็กมหาสารคาม ได้รับการบริโภคอาหารที่จำเป็น และเพียงพอ เช่น ไข่ นม พืชผัก และปลา เป้าประสงค์ที่ 4 เพื่อให้หญิงวัยเจริญพันธุ์ในจังหวัดมหาสารคาม เข้าถึงบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ การป้องกันการตั้งครรภ์ ไม่พึงประสงค์ การดูแลระหว่างการตั้งครรภ์ และการป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนและมีความรอบรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กเพื่อเด็กอัจฉริยะ เป้าประสงค์ที่ 4 เพื่อให้ประชาชนในจังหวัดมหาสารคาม ได้รับความรู้และข่าวสารที่เพียงพอ และเป้าประสงค์ที่ 6 เพื่อให้มีพ่อพระ แม่ฮักเด็กตักสิลา
 ส่วนประเด็นที่ 2 คนมหาสารคามทุกช่วงวัยคุณภาพชีวิตดี โดยมีเป้าประสงค์ รวม 6 ข้อ ได้แก่ เป้าประสงค์ที่ 1 เพื่อให้เด็กและเยาวชนเป็นคนเก่ง คนดี ด้วย To Be Number One เป้าประสงค์ที่ 2 เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากโรคที่สำคัญของพื้นที่ เป้าประสงค์ที่ 3 เพื่อคุ้มครองให้ประชาชนปลอดภัยจากการใช้ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพและสมุนไพร เป้าประสงค์ที่ 4 เพื่อให้กองทุนท้องถิ่น สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกช่วงวัยในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระดับตำบลอย่างมีประสิทธิภาพ และเป้าประสงค์ที่ 5 เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจครอบครัวและการดูแลกลุ่มเปราะบาง/ผู้ด้อยโอกาส/ผู้สูงอายุ
 สำหรับประเด็นที่ 3 มหาสารคามเมืองน่าอยู่สู่เมืองเปี่ยมสุข (เมืองปลอดภัย เมืองสะอาด เมืองสีเขียว และเมืองแห่งพลังความดี) โดยมีเป้าประสงค์ รวม 5 ข้อ ได้แก่ เป้าประสงค์ที่ 1 เพื่อให้มหาสารคามเป็นเมืองปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางถนน มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และใช้หมวกกันน็อก 100 % เป้าประสงค์ที่ 2 เพื่อให้มหาสารคามเป็นเมืองปลอดภัยจากโควิด – 19 เป้าประสงค์ที่ 3 เพื่อให้มหาสารคามเป็นเมืองสะอาดและบริหารจัดการขยะเปียกลดโลกร้อนได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี เป้าประสงค์ที่ 4 เพื่อให้มหาสารคามเป็นเมืองสีเขียว โดยการเพิ่มป่าชุมชน การเพิ่มต้นไม้แห่งแผ่นดินสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี (ปอดชุมชน) และสร้างสวนครัวรั้วกินได้ และเป้าประสงค์ที่ 5 เพื่อให้มหาสารคามเป็นเมืองแห่งพลังความดีมุ่งสู่เมืองเปี่ยมสุข
 โดยการขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับพื้นที่ในระดับจังหวัด จะมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนอย่างเป็นองค์รวมในภาพจังหวัด รวมทั้งมุ่งเน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งมีประชาชนเป็นศูนย์กลางเสริมสร้างความเป็นผู้นำและเป็นเจ้าของร่วมกันในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ตลอดจนเสริมสร้างให้บุคคล ครอบครัว และชุมชน มีสุขภาวะทางกาย จิต และสังคม โดยการสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรต่าง ๆ ในระดับจังหวัดเพื่อให้ประชาชนชาวจังหวัดมหาสารคามมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
 


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar